ประวัติสหกรณ์ สร.รฟท.จำกัด

ประวัติสหกรณ์ สร.รฟท.จำกัด


ประวัติสหกรณ์ความเป็นมา

สหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย จำกัด

********************************
 

        ความพยายามที่จะจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นสหกรณ์อุดมการณ์ คือ สหกรณ์ที่เป็นสหกรณ์ของสหภาพแรงงาน ได้เริ่มมีความคิดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 ซึ่งในขณะนั้นมีนายสมศักดิ์  โกศัยสุข เป็นประธานสหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทย สาขา หาดใหญ่ และประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคใต้ เมื่อได้พบปะพูดคุยกับ นายไพศาล ธวัชชัยนันท์ ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้านครหลวง และเป็นประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย มี ดร.จำนงค์ สมประสงค์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายทวี ประไพ ประธานสหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมปรึกษาหารือ และได้เรียนรู้จากการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานการไฟฟ้านครหลวง จำกัด ที่มี นายไพศาล ธวัชชัยนันท์ เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งจนประสบความสำเร็จ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จึงพยายามผลักดันอย่างเต็มที่ แต่เมื่อสหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานได้เจรจากับผู้บริหารการถไฟฯ ในขณะนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยเมื่อยื่นข้อเสนอต่อผู้บริหารการรถไฟฯ ผู้บริหารการรถไฟฯ ไม่เห็นชอบด้วยและปฏิเสธที่จะหักเงินทุกชนิดให้กับสหกรณ์ โดยอ้างว่าพนักงานรถไฟฯ เมื่อเดือดร้อนก็สามารถกู้เงินสะสมได้อยู่แล้ว ประกอบกับการผลักดันยังไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ของกรรมการบริหารสหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ในขณะนั้นด้วย จึงทำให้แนวทางดังกล่าวต้องหยุดชะงักไปเป็นเวลานานพอสมควร ต่อมาในปี 2529 หลังจาก นายไพศาล ธวัชชัยนันท์ ได้ชวนให้  นายสมศักดิ์   โกศัยสุข ย้ายหน้าที่การงานจากหาดใหญ่ ขึ้นมาปฏิบัติงานที่ส่วนกลาง คือ กรุงเทพ ด้วยเหตุผลที่ว่า จะได้ร่วมกันเคลื่อนไหวในศูนย์การนำในระดับชาติ เพราะยังขาดผู้นำที่เข้มแข็งอยู่มาก  ในเวลาเดียวกัน นายประเสริฐ แก้วอ่อน ก็ได้ชักชวนให้มาเป็นแกนนำสหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนกลาง เพราะขาดผู้นำที่เข้มแข็งเช่นกัน นายสมศักดิ์   โกศัยสุข จึงตัดสินใจเดินทางย้ายมาประจำที่ส่วนกลาง (โรงรถจักรบางซื่อ)เพื่อมาเสริมสร้างสหภาพแรงงานรถไฟฯ ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมทั้งจะได้ทำงานร่วมกันกับ   นายไพศาล ธวัชชัยนันท์ เพื่อร่วมกันต่อสู้เพื่อขบวนแรงงานไทยโดยส่วนรวมด้วย ซึ่งลึกๆแล้วความคิดเรื่องสหภาพแรงงานต้องมีสหกรณ์ออมทรัพย์ ยังคงฝังแน่นอยู่ในจิตใจของนายสมศักดิ์ตลอดเวลา แต่เนื่องจากสถานการณ์ของขบวนแรงงาน ในการรถไฟฯ ขณะนั้นมีการแตกแยกกันอย่างรุนแรง การรถไฟฯ มีสหภาพแรงงานที่จดทะเบียนอยู่แล้วถึง 9 แห่ง

        สำหรับความรู้สึกในการจัดตั้งสหกรณ์ในการรถไฟฯ ขณะนั้นยังมีปัญหาทางความคิดอยู่มากสาเหตุเนื่องมาจากเคยมีสหกรณ์ ร้านค้าที่จัดตั้งโดยผู้บริหารการรถไฟฯ แล้วมีการทุจริตขึ้นจนสหกรณ์ดังกล่าวล่มสลายไปทำให้พนักงานรถไฟฯ ขยาด เมื่อพูดถึงการจัดตั้งสหกรณ์อีก แต่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ก็ได้ศึกษาหาความรู้เรื่องสหกรณ์สหภาพแรงงานอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะมีความมั่นใจว่าหากผู้นำสหภาพแรงงานมีความจริงใจ มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ และซื่อสัตย์สุจริตก็จะสามารถเป็นพลังร่วมกันอย่างสำคัญเพื่อใช้สหกรณ์กับ สหภาพแรงงานที่จะปกป้องคุ้มครองแสวงหาสิทธิ อันชอบธรรมให้กับสมาชิก และการต่อสู้อย่างทรงพลังทางเศรษฐกิจโดยใช้ทั้งสหภาพแรงงานและสหกรณ์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เพื่อชนชั้นแรงงานไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

        ในระหว่างปี 2529 – 2531 เมื่อ นายสมศํกดิ์   โกศัยสุขได้ย้ายจากหาดใหญ่มาที่ส่วนกลาง และได้รับการเลือกตั้งเป็นเลขาธิการสหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้พยายามประสานสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงานต่าง ๆในการรถไฟฯ ทำให้เริ่มทำกิจกรรมร่วมกัน และต่อสู้ร่วมกันในการต่อต้านบริษัทเอกชนที่ได้สัมปทานจากการรถไฟฯ ในการนำรถเอกชนมาวิ่งบนเส้นทางของการรถไฟ ทำให้การรถไฟเสียประโยชน์ ประกอบกับปัญหาที่พนักงานรถไฟฯ ถูกเอาเปรียบเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ค่าจ้าง และวันเวลาในการทำงาน ภายหลังจากการเจรจากับผู้บริหารการรถไฟฯ แล้วล้มเหลว ทำให้มีการนัดหยุดงาน โดยมีแกนนำสำคัญคือ นายสมศักดิ์   โกศัยสุข, นายทวี ประไพ, นายธนิต ยิ้มแก้ว, นายยุทธ์ อิชยพฤกษ์, นายเรียงศักดิ์ แข่งขัน และนายสุทิน ธราทินซึ่งถือเป็นการนัดหยุดงานที่เข้มข้นที่สุดในประวัติการต่อสู้ของคนงานรถไฟฯ เพราะมีพนักงานรถจักรส่วนหนึ่งได้ก่อขบถขึ้น โดยรับเงินพิเศษจากรัฐมนตรีว่าการคมนาคม ขณะนั้นคือ นายบรรหาร ศิลปอาชา อาสานำรถจักรออกทำขบวนโดยไม่แยแสต่อสิทธิอันชอบธรรมของพนักงานส่วนใหญ่ จนถูกพนักงานรถไฟทั่วประเทศเรียกคนกลุ่มนี้ว่า พวกขบถ และเป็นเหตุผลที่มีการนัดหยุดงานยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่สุดท้ายพวกทรยศต่อชนชั้นคนงานรถไฟก็ถูกขจัดออกไป ด้วยฝีมือของสมาชิกสหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ในสาขาส่วนภูมิภาค การนัดหยุดงานโดยขบวนรถทุกขบวนหยุดวิ่งอย่างเฉียบพลันตั้งแต่วันที่ 21 – 26 มิถุนายน 2531 ยกเว้นรถชานเมือง ทำให้สถานการณ์ตึงเครียด มีทหาร ตำรวจ เคลื่อนกำลังเข้าประชิดจุดชุมนุม (โรงรถจักรบางซื่อ สถานีรถไฟหัวลำโพง โรงรถจักรดีเซลรางกรุงเทพ) การปฏิบัติการหยุดงานเริ่มปฏิบัติการโดยชุดปฏิบัติการพิเศษของสหภาพแรงงาน ได้ทำการยึดขบวนรถด่วนสายใต้ที่สถานีหัวลำโพงเป็นขบวนแรก และขบวนรถทุกขบวนไม่สามารถออกจากสถานีหัวลำโพงได้ และได้มีการเจรจากับผู้แทนรัฐบาลหลายครั้ง รวมทั้งบางครั้งมีกรรมาธิการกระทรวงคมนาคมผู้บริหารรถไฟฯ และมีทหารมาขอพบเพื่อขอข้อมูล แต่สุดท้ายมีการเจรจาที่กรมตำรวจ โดยพลตำรวจเอกเภา สารสิน อธิบดีกรมตำรวจเข้าร่วมเจรจาด้วยโดย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ได้เพิ่มเติมข้อเรียกร้องให้สหภาพแรงงานสามารถจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ได้เพิ่มอีกหนึ่งข้อด้วย เพราะวิเคราะห์จากสถานการณ์แล้วว่า สหภาพแรงงานต้องเป็นฝ่ายชนะอย่างแน่นอน สำหรับการต่อสู้ครั้งนี้มี นายหิรัญ ฤดีศรี ผู้ว่าการรถไฟฯ เป็นตัวแทนของการรถไฟฯ ซึ่งเดิมทีปฏิเสธมาตลอดว่าไม่สามารถหักเงินทุนเรือนหุ้น หรือเงินกู้ต่าง ๆ ให้สหกรณ์ได้ เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่มีช่องว่างให้หักได้ แต่วันดังกล่าว นายหิรัญ ฤดีศรี ได้ยืนยันว่าสามารถหักได้ การเพิ่มเติมข้อเรียกร้องให้สหภาพแรงงานจัดตั้งสหกรณ์ โดยให้กรรมการบริหารสหภาพแรงงานบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์เองนั้น ทำให้การเจรจาลำบากขึ้น เป็นเหตุให้ทางตำรวจและผู้นำสหภาพแรงงานในขณะนั้น บางคนถึงกับตั้งข้อสงสัยว่านายสมศักดิ์   โกศัยสุข รับงานใครมาล้มรัฐบาลพลเอกเปรมฯ เพื่อให้มีการปฏิวัติรัฐประหารหรือเปล่า แต่ภายหลังตกลงกันได้ นายสมศักดิ์   โกศัยสุข ก็ได้อธิบายความคิดที่ยังอยู่ในใจมานานถึงความพยายามที่  จะจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ของสหภาพแรงงานขึ้นมาให้ได้ และเมื่อมีโอกาสจึงไม่รีรอที่จะเพิ่มข้อเรียกร้องนี้เข้าไป และมีข้อตกลงกับการรถไฟฯ อย่างเป็นทางการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แม้ว่าจะมีข้อตกลงแล้วก็ยังไม่สามารถจัดตั้งสหกรณ์ได้โดยทันที เพราะขณะนั้นปัญหาแรงงานยังมีมาก สหภาพแรงงานจึงเร่งรัดให้การรถไฟฯ เร่งปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับเงินเดือน ค่าจ้าง ให้กับพนักงานก่อน และการเมืองผันผวนตลอดเวลาภายหลังจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์  พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการเลือกตั้งจนกระทั่ง พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และมีภาพลักษณ์ในทางทุจริตคอรัปชั่นอย่างมาก จึงถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ( รสช. ) ที่มีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะเข้ายึดอำนาจขับไล่ พลเอก ชาติชาย ลงจากอำนาจเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และแต่งตั้งให้ พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และทำการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมด โดยร่างกฎหมายฉบับใหม่ชื่อว่า พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ (ปัจจุบันเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2549 – 2550 ) เป็นผู้ออกแบบให้พนักงานรัฐวิสาหกิจจัดตั้งได้เป็นสมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้น และให้ในแต่ละรัฐวิสาหกิจมีสมาคมได้เพียงแห่งเดียว และ พลเอกสุจินดาคราประยูร ได้ประกาศผ่านสื่อมวลชนอย่างภาคภูมิใจว่าทำรัฐประหารครั้งนั้น แค่ยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจก็คุ้มแล้วนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ขณะนั้นก่อนถูกยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ดำรงตำแหน่งประธานสหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานการรถไฟแห่งประเทศไทย และรองประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย อีกตำแหน่งคือ รองเลขาธิการฝ่ายปฏิบัติการกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในปัจจุบัน โดยประสานกับผู้นำสหภาพแรงงานต่าง ๆ ในการรถไฟฯ 5 แห่ง ได้ออกชี้แจงต่อพนักงานคนรถไฟทั่วประเทศ ถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งสมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ แม้จะเป็นกฎหมายเผด็จการ แต่ปรัชญาของแรงงานก็คือ ต้องมีการจัดตั้งองค์การ และถ้ามีองค์การจัดตั้งเราก็สามารถสร้างอำนาจต่อรองได้ และสามารถยกระดับการต่อสู้เรียกร้องสหภาพแรงงานคืนมาได้ จึงควรใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างความเป็นเอกภาพของคนรถไฟเพราะต่อไปจะมีสหภาพแรงงานแห่งเดียว และมีความเข้มแข็งกว่าที่ผ่าน ๆ มาอย่างแน่นอนซึ่ง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ก็ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าว่าสถานการณ์เช่นนี้จะสามารถจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ของสหภาพ แรงงานได้อย่างแน่นอน ขณะนั้นก็มีผู้นำแรงงานในรถไฟอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ พวกกลุ่มขบถในการต่อสู้เมื่อปี 2531 พยายามจะจัดตั้งสมาคมเช่นกัน แต่รวบรวมรายชื่อพนักงานได้น้อยกว่ากลุ่มของ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ทำให้กลุ่ม นายสมศักดิ์ โกศัยสุข สามารถจัดตั้งเป็นสมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยได้สำเร็จในเดือน กรกฎาคม 2534

        ต่อมาเมื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศภายหลังยึดอำนาจได้สำเร็จว่าจะอยู่ในอำนาจเพียงหนึ่งปีแล้วจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ได้กลับคำพูดโดยกล่าววาทะ “ โกหกเพื่อชาติ ” จะอยู่ในอำนาจต่อไป โดยอ้างว่าจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ยังคั่งค้าง จึงเป็นประเด็นทางการเมืองที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยได้มีการจัดตั้งเป็นสมาพันธ์ประชาธิปไตย มีแกนนำเจ็ดคน เพื่อเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลเผด็จการ รสช. ซึ่งมีนายสมศักดิ์   โกศัยสุข เป็นหนึ่งในเจ็ดคน ได้นำประชาชนเคลื่อนไหวจนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 17 – 21 พฤษภาคม 2535   พลเอกสุจินดา คราประยูร ต้องพ้นจากอำนาจ ในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การจัดตั้งสหกรณ์ล่าช้า และหลังจากเหตุการณ์ที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2535 ทำให้ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นที่ยอมรับของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายหลังสิ้นอำนาจของเผด็จการ รสช. รวมทั้งผู้บริหารรถไฟฯ ในทุกระดับชั้น จึงเดินหน้าจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ทันที สามารถรวบรวมรายชื่อผู้ก่อตั้ง 100 คนแรก ได้สำเร็จและจัดทำร่างข้อบังคับ และจดทะเบียนชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย จำกัด ได้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2535 โดยมี นายธนิต ยิ้มแก้ว เป็นประธานสหกรณ์คนแรก มีนายสมุทร คุณชื่น   เป็นที่ปรึกษา และได้กู้เงินจากสถาบันการศึกษาแรงงานเสรีเอเชียอเมริกา (AAFLI) จำนวน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย มีชื่อย่อว่า สอ.สร.รฟท. ซึ่งเป็นชื่อย่อที่ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า เพราะมั่นใจว่าในอนาคตจะต้องต่อสู้เรียกร้องสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงานคืนมา และสามารถใช้ชื่อตัวย่อดังกล่าวได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีก ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวมี นายสมชาย จุละจาริตต์ ได้มารับตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งบุคคลผู้นี้มีความชอบพอกันเรื่องของความคิด และวิธีการทำงานกับ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข มาตั้งแต่ปี 2513 ขณะนั้น นายสมชาย จุละจาริตต์ ดำรงตำแหน่ง สารวัตรบำรุงทาง    หาดใหญ่ จึงทำให้การเจรจาปัญหาต่าง ๆ เป็นไปโดยราบรื่น เรียกได้ว่าเป็นยุคปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ที่มีความก้าวหน้าไปในทางที่ดีระหว่างสหภาพแรงงานรถไฟแห่งประเทศไทย กับ ผู้บริหาร มาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

        การบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ในช่วงปี 2535 – 2538 กรรมการทุกคนได้เสียสละทำงานกันเองโดยไม่มีเจ้าหน้าที่สหกรณ์ เพราะต้องการให้กรรมการทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจระบบสหกรณ์ ประกอบกับเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผลตอบแทนกลับคืนแก่สมาชิกให้มากที่สุด และเริ่มจ้างเจ้าหน้าที่คนแรกในปี 2538 คือ นางหทัยทิพย์ บุญขัน ซึ่งในช่วงแรกกรรมการทุกคนต้องทุ่มเทเสียสละกันพอสมควร

       นายสมศักดิ์   โกศัยสุข เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญของผู้แทนขบวนแรงงานไทยทั้งภายใน และระหว่างประเทศ จึงได้เร่งรัดผลักดันต่อรัฐบาลเพื่อให้พนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ต้องใช้เวลาถึง 9 ปี หลังขับไล่เผด็จการ รสช. ที่ต้องเสี่ยงห่ากระสุนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จนกระทั่งปี 2543 พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร โดยนายสมศักดิ์ โกศัยสุข   ได้เป็นกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้มาด้วย และเมื่อกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีผลใช้บังคับ ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อจากสมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย มาเป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ( มีชื่อย่อว่า สร.รฟท. เหมือนสมัยที่จัดตั้งเป็นสมาคม ) ส่วนชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์สมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย จำกัด ก็เปลี่ยนมาเป็นชื่อ สหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย จำกัด มีชื่อย่อว่า สอ.สร.รฟท. เหมือนเดิม และได้มีการบริหารจนกระทั่งเจริญก้าวหน้าเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่ไม่มีเคยมีปัญหาใด ๆ ในทางเสื่อมเสีย และเป็นที่ยอมรับของขบวนการสหกรณ์ และเป็นความภาคภูมิใจของสมาชิกทุกคนมาจนปัจจุบันนี้

        ดังนั้นสหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย จำกัด (สอ.สร.รฟท.) จึงเป็นสหกรณ์ที่ได้มาจากการต่อสู้ของคนงานรถไฟ ที่รวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ซึ่งสหภาพแรงงานมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองและแสวงหาสิทธิประโยชน์เพื่อสมาชิก เมื่อสมาชิกมีเงินเดือนค่าจ้างที่สูงขึ้น ก็นำมาเก็บออมไว้กับสหกรณ์ของตนเอง และเมื่อเดือดร้อนก็มาใช้บริการได้โดยไม่ต้องไปเป็นลูกหนี้ของนายทุน นายธนาคาร ให้เขาขูดรีดอีกต่อไป ซึ่งเป็นอุดมการณ์ในการพึ่งพาตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันที่จะนำพาสมาชิกทุกคนก้าวไปสู่ความมั่นคงในชีวิต ความอยู่ดีกินดีตลอดไป และนี่คือ สหกรณ์ของคนรถไฟ โดยคนรถไฟ เพื่อคนรถไฟ และเผื่อแผ่ไปถึงสังคม ชุมชน ตามปรัชญา และอุดมการณ์ของสหกรณ์อย่างแท้จริง สหกรณ์ออมทรัพย์จึงต้องอยู่คู่กับสหภาพแรงงานตลอดไป เพราะเป็นสถาบันที่จะนำความยุติธรรม ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพื่อชีวิตที่ดีของคนรถไฟ จึงเป็นพันธกิจอันสำคัญยิ่งที่สมาชิกสหภาพฯ และสมาชิกสหกรณ์ฯ จะต้องปกป้องรักษาองค์การทั้งสองให้อยู่คู่กันและพัฒนาให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปชั่วกัลปาวสาน

 

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และคณะผู้ก่อการจัดตั้ง สอ.สร.รฟท.