บริการสมาชิก

เงินฝากออมทรัพย์

โดย admin
 วันที่ 07 พ.ค. 2562 เวลา 15:58 น.
 22326

เงินฝากออมทรัพย์ คือ เงินฝากประเภทที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการฝาก จะฝากจะถอนเมื่อใดก็ได้ ในวันและเวลาทำการ

การเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ เงินฝากประจำ
สมาชิกติดต่อขอเปิดบัญชีเงินฝากได้ ณ ที่ทำการสหกรณ์ฯ
อาคาร 4 ชั้น 1 หมู่ 1 นิคมรถไฟ กม. 11 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร
เขตจตุจักร จังหวัดกรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ 02 936-0400 ต่อ 17-20

เอกสารการเปิดบัญชี ดังนี้
1. ผู้ฝากต้องยื่นหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากตามแบบฟอร์มของสหกรณ์ฯ จำนวน 1 ฉบับ
2. สำเนาบัตรประจำตัวพนักงานการรถไฟฯ กรณีสมาชิกสมทบใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน รับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 1 ฉบับ
3. สำเนาทะเบียนบ้าน รับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 1 ฉบับ
4. ตัวอย่างลายมือชื่อของผู้มีอำนาจถอนเงินในบัญชีเงินฝากที่เปิดบัญชีเงินฝาก (ตามแบบฟอร์มของสหกรณ์ฯ)
5. การฝากเงินแต่ละประเภทต้องมีเงินฝากครั้งแรก ดังต่อไปนี้
      5.1. เงินฝากออมทรัพย์ ครั้งแรกไม่ต่ำกว่า 100 บาท (หนึ่งร้อยบาทถ้วน)
      5.2. เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ครั้งแรกไม่ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำของเงินฝากประเภทนั้น
      5.3. เงินฝากประจำ ครั้งแรกไม่ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำของเงินฝากประเภทนั้น

6. เมื่อสหกรณ์ฯ ตกลงเปิดบัญชีเงินฝากให้ฝากตามที่ขอ  ถือว่าผู้ฝากรายนั้นยอมรับผู้พันและปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรับเงินฝากของสหกรณ์ฯทุกประการ

การเปลี่ยนแปลงลายมือชื่อและที่อยู่ผู้ฝากเงินออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ เงินฝากประจำ
       เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวอย่างลายมือชื่อที่ให้ไว้ ตลอดจนที่อยู่ หรือสถานที่ทำงาน ผู้ฝากเงินต้องแจ้งให้สหกรณ์ฯทราบทุกครั้ง

 

UploadImage


การฝากเงินออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ และเงินฝากประจำ
       การฝากเงิน ผู้ฝากสามารถส่งเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ เงินฝากประจำ โดยเจ้าของบัญชีเงินฝากเอง หรือผู้อื่นจะเป็นผู้ส่งเงินฝากก็ได้ โดยฝากได้ 4 วิธี ดังนี้

1. การฝากด้วยเงินสด
       การนำเงินสดฝากเข้าบัญชีเงินฝากให้ผู้ฝากเขียนใบนำฝากตามแบบฟอร์มที่สหกรณ์ฯ กำหนด ยื่นพร้อมเงินสดและสมุดบัญชีเงินฝาก

2. การฝากด้วยการหักเงินได้รายเดือน ณ ที่จ่าย   
       สมาชิกประสงค์จะฝากเงินเข้าบัญชีโดยการโอนเงินเดือน ให้ทำหนังสือยินยอมการหักเงินฝาก ณ ที่จ่าย ผ่านเงินได้รายเดือนทุกเดือน  พร้อมระบุจำนวนเงินฝากที่ต้องการให้หักในจำนวนที่เท่ากันทุกเดือน โดยขอรับแบบฟอร์มการยินยอมให้หักเงินฝาก ณ ที่จ่ายได้ที่ทำการสหกรณ์ฯส่วนกลาง หรือที่ทำการสหกรณ์ฯ สาขาส่วนภูมิภาค ทุกสาขา

3. การฝากโดยวิธีโอนเงินฝากผ่านธนาคาร ดังนี้
      3.1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขา เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์
            ชื่อบัญชี  ” สหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย จำกัด ” เลขที่บัญชี 045-700927-2
      3.2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)สาขา การปิโตรเลียม
            ชื่อบัญชี “ สหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรฟท. ” เลขที่บัญชี 071-1-18992-7
วิธีการฝากเงินผ่านบัญชีธนาคารกรุงเทพฯ ฝากได้ 2 วิธี ดังนี้

      (1) การฝากเงินผ่านธนาคารด้วยเงินสด
ผู้ฝากนำเงินสดไปที่ธนาคาร เขียนใบนำฝากพร้อมสำเนา เพื่อนำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯ ตามเลขที่บัญชี ชื่อบัญชี ธนาคาร และสาขา ตามที่ระบุไว้ข้างต้น และนำสำเนาใบนำฝากมาที่สหกรณ์ฯ เพื่อเขียนใบฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ฝากในวันเดียวกัน หรือส่งแฟกซ์สำเนาใบนำฝากมาที่สหกรณ์ฯ (เบอร์แฟกซ์ 02 936–0400 ต่อ 21) ภายในวันเดียวกัน โดยระบุชื่อบัญชี เลขที่บัญชีให้ชัดเจนเพื่อให้พนักงานบันทึกรายการฝากเงินเข้าบัญชีของสมาชิกรายนั้น

      (2) การฝากด้วยเช็ค
ผู้ฝากนำเช็คไปที่ธนาคาร เขียนใบฝากพร้อมสำเนาเพื่อนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯ ตามเลขที่บัญชี ชื่อบัญชี ธนาคาร และสาขาที่ระบุไว้ข้างต้น และนำสำเนาใบนำฝากมาที่สหกรณ์ฯ เพื่อเขียนใบฝากเงินเข้าบัญชีของผู้ฝากในวันเดียวกัน หากนำฝากไม่ทันเวลาปิดรับเช็คของธนาคาร สหกรณ์ฯจะบันทึกยอดเงินฝากให้ในวันทำการถัดไป

4. การฝากด้วยเช็คธนาคาร

       การฝากเงินด้วยเช็คธนาคาร ผู้ฝากต้องขีดคร่อมเช็คก่อน และจะมีผลเป็นการฝากเงินสมบูรณ์ต่อเมื่อสหกรณ์ฯ เรียกเก็บเงินตามเช็คได้แล้ว

ข้อสังเกตเกี่ยวกับเช็ค
(1) เช็คสั่งจ่ายเงินสด บุคคล นิติบุคคล เป็นเช็คขีดคร่อมธรรมดา หรือ “& CO” นำฝากเข้าบัญชีสหกรณ์ฯได้
(2) เช็คสั่งจ่าย “สหกรณ์ออมทรัพย์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย จำกัด ”และขีดคร่อม “A/C PAYEE ONLY” 
นำฝากเข้าบัญชีสหกรณ์ฯ ได้
(3) เช็คสั่งจ่าย บุคคล นิติบุคคล และขีดคร่อม “A/C PAYEE ONLY” นำฝากเข้าบัญชีสหกรณ์ฯ ไม่ได้
(4) เช็คเงินสดและขีด “หรือผู้ถือ” ออก นำฝากเข้าบัญชีสหกรณ์ฯ ไม่ได้

การส่งเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ เงินฝากประจำ โดยมิได้นำสมุดบัญชีเงินฝากมาด้วย

       กรณีที่ผู้ฝากต้องการฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝาก แต่มิได้นำสมุดบัญชีเงินฝากมาด้วย ให้ผู้ฝากหรือผู้ส่งเงินฝากติดต่อกับสหกรณ์ฯพร้อมด้วยเงินฝากให้เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ฯรับจำนวนเงินฝากดังกล่าวเข้าบัญชีของผู้ฝาก โดยลงลายมือชื่อรับเงินในคู่ฉบับส่งเงินฝากนั้น เพื่อให้ผู้ฝากยึดถือไว้เป็นหลักฐาน และหลังจากนั้น ผู้ฝากต้องยื่นสมุดบัญชีเงินฝาก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ฯลงรายการเงินฝากนั้นให้เสร็จโดยเร็ว

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ และบัญชีเงินฝากประจำ

       เมื่อผู้ฝากตรวจพบว่ารายการใดในสมุดบัญชีเงินฝากคลาดเคลื่อนหรือไม่ตรงกับความจริง ผู้ฝากต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ฯเพื่อตรวจสอบและแก้ไข ผู้ฝากจะทำการแก้ไขเองไม่ได้

การขอมีสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ออมทรัพย์พิเศษ และเงินฝากประจำ เล่มใหม่

       1. เมื่อสมุดบัญชีเงินฝากได้ใช้เบิก–ถอน เต็มแล้ว หรือชำรุดจนใช้การไม่ได้ ให้ผู้ฝากนำสมุดบัญชีเงินฝากมายื่นต่อสหกรณ์ฯ สหกรณ์ฯจะยกเลิกสมุดบัญชีเงินฝากเล่มนั้น และโอนยอดเงินคงเหลือขึ้นสมุดบัญชีเงินฝากเล่มใหม่
       2. กรณีสมุดบัญชีเงินฝากสูญหาย ผู้ฝากต้องนำหลักฐานการแจ้งความยื่นต่อสหกรณ์ฯ เพื่อขอมีสมุดบัญชีเงินฝากเล่มใหม่ โดยสหกรณ์ฯ จะนำยอดเงินคงเหลือขึ้นสมุดบัญชีเงินฝากเล่มใหม่ให้ผู้ฝากยึดถือไว้ โดยผู้ฝากต้องชำระค่าสมุดบัญชีเงินฝากเล่มใหม่ จำนวน 50 บาท (ห้าสิบบาทถ้วน) ต่อสมุดบัญชีเงินฝาก 1 เล่ม ส่วนสมุดบัญชีเงินฝากเล่มที่สูญหายนั้นให้มีผลยกเลิก

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ และเงินฝากประจำ
1. ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ให้เป็นไปตามประกาศ เรื่อง ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งสหกรณ์ฯ จะประกาศให้ทราบเป็นคราวๆไป ทั้งนี้ สหกรณ์ฯอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
การคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ สหกรณ์ฯจะคำนวณให้เป็นรายวันตามยอดเงินคงเหลือสุทธ เมื่อสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ฯ สหกรณ์ฯจะนำดอกเบี้ยเงินฝากทบเป็นต้นเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ฝากโดยให้ผู้ฝากยื่นสมุดบัญชีเงินฝาก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ฯ บันทึกรายการดอกเบี้ยในสมุดบัญชีเงินฝากให้
2. ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษให้เป็นไปตามประกาศ เรื่องประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งสหกรณ์ฯ จะประกาศให้ทราบเป็นคราวๆไป สหกรณ์ฯอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ เมื่อสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ฯ สหกรณ์ฯจะนำดอกเบี้ยเงินฝากทบเป็นต้นเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ฝาก โดยให้ผู้ฝากยื่นสมุดบัญชีเงินฝาก เพื่อให้เจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ บันทึกรายการดอกเบี้ยในสมุดบัญชีเงินฝากให้
3. ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำให้เป็นไปตามประกาศ เรื่อง ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งสหกรณ์ฯจะประกาศให้ทราบเป็นคราวๆไป ทั้งนี้ สหกรณ์ฯ อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน การคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ สหกรณ์ฯจะคำนวณและจ่ายดอกเบี้ยเมื่อฝากครบกำหนด ตามระยะเวลาที่ผู้ฝากเปิดบัญชีเงินฝากประเภทนั้นให้เป็นรายวัน ตามยอดเงินคงเหลือสุทธิ ทั้งนี้ ผู้ฝากต้องเสียภาษีร้อยละ 15 ของดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินฝากประจำ

กรณีครบกำหนดระยะเวลาฝาก ถ้าผู้ฝากยังไม่ถอนเงินฝากจนพ้น 7 วัน หลังจากครบกำหนดแล้วเป็นอัน  ถือว่าผู้ฝากตกลงฝากต้นเงินและดอกเบี้ยที่ได้รับทบเป็นต้นเงินฝากประจำต่อไปอีกเป็นคราวๆ ตามระยะเวลาฝากที่กำหนดไว้เดิม และเป็นหน้าที่ของผู้ฝากที่ต้องนำสมุดบัญชีเงินฝากมายื่นต่อเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ เพื่อบันทึกรายการในสมุดบัญชีเงินฝาก

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง


การถอนเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ และเงินฝากประจำ
1. ผู้มีอำนาจถอนเงินฝากตามที่ได้ให้ตัวอย่างลายมือชื่อไว้ ต้องทำใบถอนเงินฝากและมารับเงินด้วยตนเอง โดยยื่นใบถอนเงินฝากพร้อมด้วยสมุดบัญชีเงินฝากต่อเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ
2. กรณีผู้ฝากไม่มาดำเนินการถอนเงินฝาก หรือไม่มารับเงินด้วยตนเอง ผู้ฝากต้องทำหนังสือมอบอำนาจ ตามแบบที่สหกรณ์ฯ กำหนดไว้ด้านหลังใบถอนเงินฝากนั้น โดยผู้รับมอบอำนาจต้องมารับเงินด้วยตนเอง และยื่นใบถอนเงินฝาก สมุดบัญชีเงินฝาก พร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้
        (1) บัตรประจำตัวพนักงานการรถไฟฯ หรือบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจ
        (2) สำเนาบัตรประจำตัวพนักงานการรถไฟฯ หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจ รับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 1 ฉบับ
        (3) บัตรประจำตัวพนักงานการรถไฟฯ หรือบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
        (4) สำเนาบัตรประจำตัวพนักงานการรถไฟฯ หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ รับรองสำเนาถูกต้องจำนวน 1 ฉบับ
3. เมื่อผู้มีอำนาจถอนเงินฝากได้มอบอำนาจตาม ข้อ 2. แล้ว และภายหลังจะห้ามจ่ายเงินตามใบถอนเงินฝาก ซึ่งมอบอำนาจให้ผู้ใดมารับเงินแทน ผู้มีอำนาจถอนเงินฝากต้องมีหนังสือห้ามการจ่ายเงินยื่นต่อสหกรณ์ฯ ก่อนที่สหกรณ์ฯจะจ่ายเงินตามใบถอนเงินฝาก ในหนังสือห้ามการจ่ายเงินให้ระบุเลขที่บัญชีเงินฝาก วันที่ถอนเงินฝาก จำนวนเงินที่ถอนและชื่อของผู้รับมอบอำนาจให้รับเงินแทน
4. การถอนเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ และเงินฝากประจำ มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
        4.1. การถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ จะถอนเมื่อใดจำนวนเท่าใดก็ได้ แต่ยอดคงเหลือในบัญชีเงินฝากต้องไม่น้อยกว่า 100 บาท (หนึ่งร้อยบาทถ้วน)
        4.2. การถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ จะถอนได้เมื่อ
ครบ 1 ปี หรือครบกำหนดระยะเวลาที่ฝากเท่านั้น ห้ามถอนก่อนครบกำหนด และจะถอนจำนวนเท่าใดก็ได้ แต่ต้องมีเงินฝากคงเหลือไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินฝากประเภทนั้น
        4.3. การถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำ จะถอนได้เมื่อครบ
กำหนดระยะเวลาในการฝาก และจะถอนจำนวนเท่าใดก็ได้ แต่ต้องมีเงินฝากคงเหลือไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินฝากประเภทนั้น
        4.4. กรณีถอนเงินฝากทุกประเภทเกินกว่า 1,000,000 บาท (หนึ่ง
ล้านบาทถ้วน) ผู้ฝากต้องแจ้งการถอนเงินฝากมายังสหกรณ์ฯ ตามกำหนดเวลา ดังนี้
                    (1)ถอนเงินฝากไม่เกิน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท ถ้วน) ถอนเงินฝากได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้สหกรณ์ฯทราบล่วงหน้า
                    (2) ถอนเงินฝากเกินกว่า 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) แต่ไม่เกิน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) ให้ผู้ถอนเงินฝากแจ้งให้สหกรณ์ฯทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน
                    (3) ถอนเงินฝากเกินกว่า 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) ให้ผู้ถอนเงินฝากแจ้งให้สหกรณ์ฯทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน
                    (4) ถอนเงินฝากเกินกว่า 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) แต่ไม่เกิน 20,000,000 บาท (ยี่สิบล้านบาทถ้วน) ให้ผู้ถอนเงินฝากแจ้งให้สหกรณ์ฯทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน
                    (5) ถอนเงินฝากเกินกว่า 20,000,000 บาท (ยี่สิบล้านบาทถ้วน) ขึ้นไป ให้ผู้ถอนเงินฝากแจ้งให้สหกรณ์ฯทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน

การปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ และเงินฝากประจำ

1. เงินฝากออมทรัพย์
       ผู้ฝากเงินออมทรัพย์ จะถอนเงินฝากคงเหลือทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของตนเมื่อใดก็ได้ โดยผู้มีอำนาจถอนเงินฝากต้องจดแจ้งไว้ท้ายรายการจำนวนเงินในใบถอนเงินฝากด้วยว่า “เพื่อปิดบัญชี” สหกรณ์ฯจะคำนวณดอกเบี้ยให้ และนำดอกเบี้ยเข้าบัญชีของผู้ฝากเพื่อถอนจำนวนรวมทั้งหมด เมื่อสหกรณ์ฯได้จ่ายเงินคืนผู้ฝากแล้ว จะยกเลิกสมุดคู่ฝากสำหรับบัญชีนั้น

2. เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ
       ผู้ฝากเงินออมทรัพย์พิเศษ จะถอนเงินฝากคงเหลือทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษของตนเมื่อใดก็ได้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาในการฝาก โดยผู้มีอำนาจถอนเงินฝากต้องจดแจ้งไว้ท้ายรายการจำนวนเงินในใบถอนเงินฝากด้วยว่า “เพื่อปิดบัญชี” สหกรณ์ฯจะคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากให้ และนำดอกเบี้ยเงินฝากเข้าบัญชีของผู้ฝากเพื่อถอนจำนวนรวมทั้งหมด เมื่อสหกรณ์ฯได้จ่ายเงินคืนผู้ฝากแล้วจะยกเลิกสมุดคู่ฝากสำหรับบัญชีนั้น

3. เงินฝากประจำ
       ผู้ฝากเงินประจำ จะถอนเงินฝากคงเหลือทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีเงินฝากประจำของตนได้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาฝากเงินประเภทนั้น แต่เมื่อผู้ฝากมีความจำเป็นต้องถอนเงินฝาก เพื่อปิดบัญชีเงินฝากประจำก่อนครบกำหนดระยะเวลาเงินฝากประเภทนั้น ให้ปิดบัญชีได้ แต่ผู้ฝากจะไม่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ช่วงระยะเวลาที่ถอนก่อนครบกำหนด ตามระยะเวลาเงินฝากประเภทนั้น การถอนเงินฝากประจำ ผู้มีอำนาจถอนเงินฝากต้องจดแจ้งไว้ท้ายรายการจำนวนเงินในใบถอนเงินฝากด้วยว่า “เพื่อปิดบัญชี” เมื่อสหกรณ์ฯได้จ่ายคืนผู้ฝากแล้วจะยกเลิกสมุดคู่ฝากสำหรับบัญชีนั้น
 
กรณีผู้ฝากเงินเสียชีวิต

       สหกรณ์ฯจะจ่ายคืนเงินคงเหลือทั้งหมดในบัญชีเงินฝากของผู้ฝาก ให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ ในกรณีที่สมาชิกไม่ได้ทำหนังสือตั้งผู้รับประโยชน์ไว้ สหกรณ์ฯจะจ่ายเงินทั้งหมดให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก หรือผู้จัดการมรดกของผู้ฝาก เมื่อได้นำหลักฐานมาแสดงสิทธิของตนให้เป็นที่พอใจแก่สหกรณ์ฯ และนำสมุดคู่ฝากมายื่นพร้อมกันด้วยก่อนที่จะจ่ายคืนเงินคงเหลือ สหกรณ์ฯจะคำนวณดอกเบี้ยให้ตามระยะเวลาที่ฝาก สำหรับสมุดบัญชีเงินฝากนั้นให้ยกเลิก และเป็นการปิดบัญชีเงินฝากรายนั้น